-
คำแถลงนโยบาย
ของ
นายชัยอนุชิต ม่วงน้อยเจริญ
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู
แถลงต่อ สภาองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู
อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
วันที่ ๖ เดือน มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗
-----------------------------------
ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู ที่เคารพและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วน
ตำบลวังชมภู ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ลต (พช) ๐๗๐๒/๒๓๐๙ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ เรื่อง ประกาศรับรองผลการได้รับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น รับรองผลการเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู ของกระผม นายชัยอนุชิต ม่วงน้อยเจริญ ตามมติคณะกรรมการการเลือกตั้งในการประชุม ครั้งที่ ๙๙/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ โดยให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๓ เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา ๕๘/๕ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๒ กำหนดให้ ก่อนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบล โดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล... และในวรรคสามของมาตราเดียวกันนี้ ได้ระบุไว้ว่า...การประชุมเพื่อแถลงนโยบายของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลให้กระทำโดยเปิดเผย โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลต้องจัดทำนโยบายเป็นลายลักษณ์อักษรแจกให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ทุกคนที่มาประชุมด้วย...
บัดนี้กระผมได้กำหนดนโยบายเพื่อให้การบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู
สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของภารกิจภายใต้กรอบของกฎหมาย อำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ที่ยึดวิสัยทัศน์ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรมและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตำบลให้มากที่สุด และยึดหลักการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางในการบริหารงาน กระผมขอแถลงนโยบายการบริหารงานต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู แห่งนี้ เพื่อให้รับทราบและใช้เป็นแนวทางในการติดตามตรวจสอบการบริหารงานของกระผมในโอกาสต่อไป ตามลำดับดังนี้
-
นโยบายเร่งด่วนทำทันที
กระผมได้รับทราบปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในตำบล ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องรีบ
ดำเนินการแก้ไขโดยด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในตำบล ส่งผลให้ประชาชนในตำบลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้
๑.๑ จัดหาแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภคบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยการประสานขอรับการสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการสร้างฝาย, แก้มลิง สำหรับกักเก็บน้ำในพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการขาดแคลนน้ำของประชาชน
๑.๒ จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก, ถนนลาดยาง, ถนนหินคลุก บุกเบิกถนนใหม่ ขยายระบบไฟฟ้าสาธารณะ ไฟฟ้าครัวเรือน ระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
๑.๓ สร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในตำบลมีคุณภาพชีวิตที่ดี พัฒนาความรู้ ส่งเสริมอาชีพ สร้างเสริมสุขภาพกายและจิตใจให้แข็งแรง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
-
นโยบายการพัฒนาทั่วไป
กระผมได้กำหนดนโยบายการพัฒนาทั่วไป ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา ๖๗
แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๕๒
ที่มอบหมายให้กระทำได้ ดังนี้
๒.๑ นโยบายด้านบริหารงานทั่วไป
(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการบริหารงาน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการพัฒนาตำบลในทุกๆ ด้าน
(๒) ยกระดับคุณภาพชุมชน หมู่บ้าน เพื่อการพึ่งตนเองและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล และพัฒนาเครือข่ายชุมชนให้เติบโตมั่นคง
(๓) ประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน แผนพัฒนา ๓ ปี และการนำแผนไปสู่การให้บริการสาธารณะ
(๔) ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างเหมาะสม
(๕) ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับปริมาณงานและอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
(๖) พัฒนาบุคลากรทั้งด้านการบริหารและด้านการเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถรวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(๗) พัฒนาศักยภาพในการจัดหารายได้ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารและการให้บริการสาธารณะ
(๘) บริหารองค์กรและจัดทำบริการสาธารณะตามหลักธรรมาภิบาล โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยยึดหลักความคุ้มค่า โปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้
(๙) จัดให้มีการพัฒนาองค์กร ให้รางวัล และให้ค่าตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษแก่บุคลากร ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับงบประมาณ ปริมาณงาน การใช้ความรู้ความสามารถ มีความพร้อมในการให้บริการที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิผลต่อประชาชนอย่างสูงสุด
๒.๒ นโยบายด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย
(๑) สนับสนุนกิจกรรมการรณรงค์ด้านการจราจรเพื่อความปลอดภัยในการใช้เส้นทางและยานพาหนะทุกช่วงเทศกาล
(๒) สนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เพื่อรณรงค์ป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยและสารธารณภัย
(๓) ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งชุดทำงานรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนภายในเขตตำบล
๒.๓ นโยบายด้านการศึกษา
(๑) พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งด้านบุคลากร สถานศึกษาและอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัยและมีคุณภาพเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กในทุกด้าน
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสอนด้านจริยธรรม คุณธรรมและธรรมศึกษาในทุกสถานศึกษาในตำบล
(๓) ส่งเสริมการเรียนรู้นอกสถานที่ เพื่อเพิ่มพัฒนาการของเด็กและเยาวชน ให้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล
(๔) ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพในการจัดการระบบการเรียนรู้ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน
(๕) ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยหรือการศึกษานอกระบบเพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับเยาวชนและประชาชนให้มีความมั่นคง
(๖) ส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษพื้นฐานแก่เด็ก เยาวชน พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
๒.๔ นโยบายด้านสาธารณสุข
(๑) ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรชุมชนในการพัฒนาแปรรูปสมุนไพร เพื่อเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาภารกิจของ อสม., กลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มเยาวชน และองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มแข็งและมีบทบาทด้านการพัฒนาสาธารณสุข
(๓) ส่งเสริมสนับสนุนการปลูกฝังสุขลักษณะที่ดีในชีวิตประจำวันให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ
(๔) สนับสนุนการควบคุม ป้องกัน กำจัดโรคติดต่อและไม่ติดต่อ เพื่อให้ประชาชนในตำบลมีสุขภาพที่ดี
(๕) ส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน และการบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้กับประชนในตำบลอย่างทั่วถึง
๒.๕ นโยบายด้านสังคมสงเคราะห์
(๑) ส่งเสริมสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ด้อยโอกาส คนชรา และคนพิการ
ภายในตำบลให้ดีขึ้น
(๒) ส่งเสริม สนับสนุนสวัสดิการแก่เด็ก คนชรา คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในตำบล
(๓) ประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือและดูแลให้ความร่วมมือแก่เด็ก สตรี เยาวชน คนชรา และคนพิการภายในตำบล
๒.๖ นโยบายด้านเคหะและชุมชน
(๑) จัดให้มีระบบประปาที่ได้มาตรฐานเพื่อการอุปโภคและ บริโภคน้ำที่มีคุณภาพโดยให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งตำบล
(๒) จัดให้มีถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก, ถนนลาดยาง, ถนนหินคลุก และบุกเบิกถนนใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางให้ถึงกัน สะดวกแก่การสัญจร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
(๓) จัดให้มีและซ่อมบำรุงถนน, สะพาน, เหมืองน้ำ, คู, คลอง, แหล่งน้ำ, ไฟฟ้า, ประปา, ท่อระบายน้ำ, ทางระบายน้ำตลอดถึงสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ให้มีความเหมาะสมและใช้การได้ทุกฤดูกาล
(๔) จัดให้มีและบำรุงรักษาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคและบริโภคให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
(๕) ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น, ส่วนราชการ, รัฐวิสาหกิจ, องค์กรเอกชน, และองค์กรภาครัฐอื่น ๆ เพื่อจัดให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบ
(๖) สนับสนุนการจัดทำและใช้ผังเมือง
๒.๗ นโยบายด้านการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
(๑) ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มสตรี, แม่บ้าน, อสม. พัฒนาอาชีพเพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสู่ชุมชนเข้มแข็ง
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้งสภาเยาวชนสร้างเครือข่ายการพัฒนาชุมชนทุกหมู่บ้าน
(๓) ส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ สร้างเครือข่ายระดับตำบล
(๔) ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ให้กับผู้ว่างงาน ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
(๕) ส่งเสริมสนับสนุนศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดตำบล เพื่อป้องกัน
การแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่
(๖) ส่งเสริมสนับสนุนการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในระดับครัวเรือน ระดับหมู่บ้าน และระดับตำบล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในตำบล
๒.๘ นโยบายด้านศาสนา วัฒนธรรม กีฬาและนันทนาการ
(๑) ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและนำหลักธรรมของศาสนาไปใช้ในการเสริมสร้างคุณธรรม
(๒) จัดให้มีการบำรุงรักษาศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของประชาชนในตำบล
(๓) ส่งเสริมให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิตชุมชน
(๔) ส่งเสริมสนับสนุนการกีฬา สร้างสุขภาพที่ดีสำหรับเด็ก, เยาวชน, ประชาชน, และผู้ด้อยโอกาสให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง
(๕) ส่งเสริมสนับสนุนสร้างลานกีฬาระดับชุมชน
(๖) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬาเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน หมู่บ้าน
(๗) ส่งเสริมให้มีลานสาธารณะ, สนามเด็กเล่น, พร้อมอุปกรณ์เพื่อนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจและการออกกำลังกาย
๒.๙ นโยบายด้านการเกษตร
(๑) ส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการผลิตการเกษตร และพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรภายในตำบล
(๒) สนับสนุนกลุ่มการเกษตรกรภายในตำบล ให้ดำเนินการผลิตโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์, ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุน ฟื้นฟูสภาพดิน, น้ำ และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์แก่ผลผลิตของเกษตรกร และสิ่งแวดล้อมในตำบล
(๓) ประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมแนวทางการผลิตแนวเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกรในตำบล
(๔) ส่งเสริมเครือข่ายการตลาด การซื้อขายสินค้าเกษตรให้ดีขึ้นและมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น มีตลาดรองรับเพิ่มมากขึ้น
๒.๑๐ นโยบายด้านการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
(๑) พัฒนาทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ เส้นทางคมนาคม ความปลอดภัยให้มีศักยภาพเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
(๒) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีศูนย์แสดงจำหน่ายสินค้า OTOP, ของที่ระลึกผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชุมชน
(๓) ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล มลพิษ รวมทั้งการจัดหาเครื่องมือ เครื่องจักรกลสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและบริการสาธารณะ
(๔) ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรเครือข่ายเยาวชน ชุมชน สถานศึกษา โดยร่วมมือภาคราชการ เอกชน ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติเพื่อลดภาวะโลกร้อน
(๕) ส่งเสริมสนับสนุนการประหยัดพลังงานและการพัฒนาพลังงานทางเลือก เช่น ก๊าชชีวภาพจากมูลสัตว์ ฯลฯ
ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู ที่เคารพ
นโยบายที่กระผมได้แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภูไปแล้วนั้น ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความสอดคล้องความต้องการของประชาชนภายใต้การมีส่วนร่วมในการกำหนดทุกภาคส่วน โดยยึดหลักความรวดเร็ว ทันสมัย โปร่งใส และมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนชาวตำบลวังชมภู โดยจะใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการจัดทำแผนพัฒนา จัดทำงบประมาณ การจัดซื้อ-จัดจ้าง การตรวจสอบการประเมินผล และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยจะถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกประการ
สุดท้ายนี้ กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
วังชมภู ของกระผมจะได้รับการสนับสนุน ความร่วมมือจากทุกท่านเป็นอย่างดี และกระผมขอให้คำมั่นว่า กระผมจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตยึดมั่นในความยุติธรรม โดยถือหลักการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน กระผมหวังว่าคงได้รับความร่วมมือจากท่านสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู ผู้นำชุมชน และพนักงาน เจ้าหน้าที่ ทุกท่านเป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ขอขอบคุณครับชัยอนุชิต ม่วงน้อยเจริญ
(นายชัยอนุชิต ม่วงน้อยเจริญ)
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู
-